เกี่ยวกับ กาแฟโบราณมังกรบิน
กาแฟโบราณตรา "มังกรบิน" ทะยานฟ้าสู่สังคมไทยกว่า 6 ทศวรรษ
กว่า 6 ทศวรรษแล้วที่กาแฟโบราณตรา “มังกรบิน” อยู่เคียงข้างสังคมไทย ซึ่งนั่นก็หมายถึงความมีคุณภาพของสินค้าที่ถูกอกถูกใจบรรดาคอกาแฟทั้งหลาย และหมายถึงความมีมานะอดทนของเจ้าของธุรกิจที่สืบทอดรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงวันนี้
ยุคแรก มังกรบินติดปีก
ขี่ลิ้ม แซ่จิว เป็นดั่งคนจีนคนหนึ่งที่หอบเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีนมาเมืองไทย เพื่อหาช่องทางทำมาหากิน คุณปู่ต่อสู้ชีวิตหากินหลายอย่าง จนปี 2490 ขี่ลิ้มหันเหชีวิตมาขายกาแฟ โดยเข้าหุ้นกับเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ผลิตและจำหน่ายกาแฟแถวซอยจินดาถวิล ถนนสี่พระยา โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า กาแฟตรามังกร
แรกๆ นั้น ขี่ลิ้มก็ขายสินค้าในกรุงเทพฯ เวลาไปส่งสินค้าก็ถีบจักรยานไปสั่งของ หรือบางทีก็ให้ภรรยาเขานั่งรถเมล์ไปส่งแทน จนเวลาผ่านไป 10 ปี กิจการของคุณปู่เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เขามองเห็นช่องทาง และโอกาสในการประกอบธุรกิจนี้ อย่างเป็นล้ำเป็นสันมากขึ้น จึงตัดสินใจซื้อเรือ เพื่อทำการส่งสินค้าทางเรือ เมื่อขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างจังหวัด คือบริเวณปากน้ำโพ กับบางปะกง
แต่กิจการที่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะต้องเจอปัญหาใหญ่ นั่นคือ กาแฟเจ้าถิ่นที่ครองตลาดมานานไม่ยอมให้เจาะเข้าไปได้ง่ายๆ แต่ขี่ลิ้มและภรรยาก็ยังไม่ละความพยายาม สามารถประคับประคองกิจการมาเรื่อยๆ
จนกระทั่งปี 2505 คุณปู่กับหุ้นส่วนได้ตกลงแบ่งลูกค้าและกิจการกัน โดยใช้วิธีเลือกเส้นทางคมนาคเป็นเกณฑ์ คือ กลุ่มลูกค้าที่ขนส่งทางถนนหุ้นส่วนได้กิจการไป และใช้ตราสินค้าเดิม คือ การแฟตรามังกร ส่วนคุณปู่ได้ลูกค้าที่ใช้เรือขนส่งสินค้า และย้ายโรงงานไปอยู่ในซอยวัดดงมูลเหล็ก ถนนอิสรภาพ และเป็นเหตุให้เขาต้องเปลี่ยนตราสินค้าใหม่ โดยใช้รูปมังกรเดิม แต่เพิ่มปีกเข้าไป เมื่อติดปีกแล้ว “มังกรบิน” ก็เริ่มผงาด
ยุคสอง มังกรบินฝ่าคลื่นลม
ปี 2507 ลูกชายของคุณปู่ขี่ลิ้ม คุณวรเทพ จิตตขจรเกียรติ ซึ่งขณะนั้นมีอาชีพเป็นเซลส์ขายยาในต่างจังหวัด กลับมารับช่วงกิจการของครอบครัว โดยการบุกเบิกหาลูกค้าเพิ่มเติม โดยขอเช่ารถจากเพื่อนบ้านไปหาลูกค้าทางภาคอีสาน กับตะวันออก
ในสมัยนั้นถนนหนทางไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน จึงต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะกลับมากรุงเทพฯ สักครั้งหนึ่ง พอถึงหน้าฝนทางขาดรถวิ่งไม่ได้ ก็ต้องยกรถขึ้นรถไปเพื่อเดินทางต่อ นี่เป็นการต่อสู้ชีวิตเสี้ยวหนึ่งที่คุณวรเทพต้องพบเจอ
ปัญหาและอุปสรรคยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในต่างจังหวัด บางครั้งก็จะมีกาแฟเจ้าถิ่นส่งอยู่แล้ว ก็มักจะเจอปํญหาว่าเข้ามาแย่งลูกค้า แต่คุณวรเพทก็แก้ไขปัญหา และนำพากาแฟโบราณตรามังกรบินไปอย่างสง่างาม ปี 2513 ย้ายโรงงานไปอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 31 และปี 2518 เกิดวิกฤตกาแฟ
เมื่อร้านกาแฟแบบชงขายกิจการลงอย่างมาก เนื่องจากมีการเก็บภาษีร้านกาแฟ อีกทั้งธุรกิจประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟสำเร็จรูปเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงความเข้มงวดของกระทรวงสาธราณสุขในสมัยนั้น เนื่องจากคิดว่ากาแฟโบราณมีการใส่สีดำ ซึ่งคุณวรเทพและเพื่อนในวงการกาแฟได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมผู้คั่วกาแฟขึ้นมา
โดยคุณวรเทพรับหน้าที่เป็นเลขาธิการสมาคม เพื่อเข้าชี้แจงกับทางกระทรวงสาธารณสุขว่า กาแฟโบราณที่ใช้ทำโอเลี้ยงนั้นมีสีดำ เพราะใช้สีธรรมชาติคือน้ำตาลเคี่ยวมิได้ใช้สารเคมี หรือสีผสมอาหารแต่อย่างใด จึงไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค ซึ่งในขณะนั้นมีโรงงานคั่วกาแฟในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่ร่วม 100 โรงงาน รวมถึงที่คั่วเองเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนด้วย
ลูกค้าเริ่มหายไป ซึ่งช่วงเวลานี้ภรรยาของคุณวรเทพ คือ คุณสมศรี ปูนพูลโภค เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งที่เข้ามาดูแลกิจการ และมีคุณเดชา ตั้งรัตนาพิบูล หรือเฮียฮวด ทำหน้าที่เป็นหลงจู๊ เป็นผู้ส่งสินค้าในภาคอีสาน ซึ่งเหลือเพียงายเดียว จนผ่านวิกฤตมาได้จนทุกวันนี้ จึงพูดได้ว่า ถ้ากาแฟโบราณตรามังกรบินไม่มีเฮียฮวดที่ส่งกาแฟสายอีสานให้กับโรงงาน คงไม่มีกาแฟโบราณตรามังบินในวันนี้
ยุคปัจจุบัน มังกรบินทะยานฟ้าทั่วทิศ
ทุกวันนี้มักเห็นป้ายกาแฟโบราณตรามังกรบินโดยทั่วไป ซึ่งได้มาโดยไม่ง่ายนัก ในปี 2535 คุณเอนก จิตตขจรเกียรติ เข้ามาสืบสานธุรกิจต่อจาก คุณวรเทพผู้เป็นพ่อ ขณะนั้นคุณเอนกอายุเพียง 21 ปี ทำงานรับหลอดกาแฟมาขายตามร้าน พร้อมกับหาลูกค้ากาแฟไปในตัว โดยมีคุณพ่อวรเทพเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการส่งกาแฟให้
คุณเอนกเล่าให้ฟังว่า เขายังจำความรู้สึกในวันแรกได้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ว่า เขาหาลูกค้าได้เพียงรายเดียว เนื่องจากยังไม่ค่อยกล้ามากนัก แต่คุณพ่อวรเทพก็พยายามใช้คำพูดที่สร้างกำลังใจให้ และนั่งรถไปด้วยเพื่อดูตลาด ออกรถทุกวันเข้าตามซอกซอยต่างๆ ตามตลาดสดไปทุกที่ ซึ่งในขณะนั้นมีร้านกาแฟเปิดขึ้นมากมาย แต่ส่วนมากจะซื้อต่อจากร้านค้าอีกทอดหนึ่ง ยังไม่มีคนมาส่งให้ถึงร้าน จึงเป็นโอกาสที่ดีให้คุณเอนกติดต่อขายกาแฟได้
เมื่อมีลูกค้ามากรายขึ้น คุณเอนกจะทำการจัดรวมเป็นสายในการส่ง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงร้านค้าจะทราบได้แน่นอนว่าจะไปส่งวันใด จะได้ลงกาแฟได้พอดีจนมีลูกค้าอยู่ 3 สาย คือ สายนนทบุรี ปทุมธานี สายสุพรรณบุรี และสายตะวันออก
ในแต่ละสายที่ไปก็จะมีกาแฟที่อยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยออกหาลูกค้ามากนัก จึงเป็นโอกาสที่ดีของคุณเอนก และขยายตลาดออกไปยังภาคอีสานเพิ่มเติม เริ่มจาก สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ และภาคเหนือ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร
ขณะนั้นน้องชาย คือ คุณอำนาจ จิตตขจรเกียรติ เรียนจบพอดี คุณเอนกจึงให้คุณอำนาจสานต่อลูกค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร กาญจนบุรี นครปฐม ฯลฯ และคุณอรุณศรี จิตตขจรเกียรติ น้องสาวเข้ามาช่วยสานกิจการ
พร้อมทั้งได้เปลี่ยนชื่อจาก “โรงงานกาแฟจิตต์เกษม” เพื่อจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท เพื่อดำเนินกิจการในชื่อ “บริษัท ขจรเกียรติกาแฟ จำกัด” ด้วยวงเงินทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท ซึ่งยังคงใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ๆ ที่ยังเหลืออยู่ต่างปิดกิจการลง เนื่องจากไม่ค่อยมีคนสืบทอดธุรกิจลักษณะนี้มากนัก
การดำเนินธุรกิจในช่วงแรก คุณเอนกยอมรับอย่างไม่อายว่ากิจการของเขาไม่ค่อยราบรื่นมากนัก เนื่องจากต้องนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด นั่นคือ เริ่มสร้างฐานลูกค้าขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยเน้นลูกค้าในระดับรากหญ้าก่อน นั่นคือ ลูกค้าตามร้านกาแฟทั่วไป และรถเข็น โดยในช่วงนั้นคู่แข่งยังน้อย เนื่องจากคนส่งกาแฟโบราณแทบจะไม่มีเลย เพราะลูกค้าจะซื้อกาแฟจากยี่ปั๊วที่มีขายตามท้องตลาด จึงถือได้ว่าคุณเอนกเป็นผู้ที่พลิกฟื้นธุรกิจกาแฟโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง
ธุรกิจกาแฟโบราณดีขึ้นเรื่อยมา โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งปี 2543 จึงได้เพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการวางจำหน่ายสินค้าผ่านเอเย่นต์เกือบทั่วประเทศ เพราะร้านกาแฟที่เห็นทั่วๆ ไปส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าของมังกรบิน แต่ก็ยังมีร้านเล็กๆ ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่เข้าถึงได้ยาก ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะนิยมซื้อกาแฟตามร้านในตลาด ทำให้เขาต้องวางสินค้าผ่านเอเย่นต์เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ และเพื่อให้สินค้าของเขาครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ผ่านการจัดรายการโปรโมชั่นมากมาย ทั้งลดแลกแจกแถม เพื่อให้ลูกค้าทดลองใช้สินค้า และเกิดการซื้อประจำ
“เราจะเข้าไปคุยกับเขาตรงๆ และถามเลยว่า ร้านเล็กๆ ที่ขายกาแฟนั้นเขาใช้ยี่ห้ออะไร ถ้าใช้ยี่ห้ออื่น เราก็จะเสนอสินค้าของเราเลย แต่ถ้าเขาใช้มังกรบินอยู่แล้ว เราก็จะแจกป้ายให้ฟรี แต่เราจะหลีกเลี่ยงการส่งสินค้าเอง เพราะจะไปทับซ้อนกับร้านค้าของเอเย่นต์เราที่เขาไปซื้อ จึงให้เขาไปซื้อยี่ห้อเรากับร้านค้าตามเดิมดีกว่า เราไม่เอาเปรียบทั้งผู้บริโภค และลูกค้าของเรา” คุณเอนก กล่าว
กลยุทธ์เด็ด แจกป้ายกาแฟโบราณ
ความถี่คุณเอนกเข้าไปสัมผัสลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้เขาเข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่ลูกค้าต้องการ คือ ป้ายที่บ่งบอกถึงตัวสินค้า คุณเอนกมองว่า การบริการป้ายนี้เป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กาแฟดูมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นแค่กาแฟปี๊บ กลายเป็นกาแฟโบราณที่ดูคลาสสิค
“แรกๆ ใช้ป้ายสีเหลือง แต่ไม่ค่อยดีนัก ก็เปลี่ยนสีมาเรื่อยๆ จนมาลงตัวที่สีน้ำเงิน และสีเขียวในปัจจุบัน ซึ่งสีนี้ได้ผลตอบรับดีมาก คนจำได้เป็นสีของกาแฟโบราณตรามังกรบิน” คุณเอนกพูดถึงป้ายสินค้าที่แจกลูกค้า
หลังจากเริ่มแจกป้ายทำให้มีหลายคนสนใจมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายพุ่งกระฉูดมากกว่าเดิมถึง 10 เท่าตัว และส่งผลให้กิจการของเขาต้องเพิ่มพนักงาน จากเริ่มต้นเพียง 5 คน กลับเพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบคน จากที่เคยคั่วกาแฟอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่เดี๋ยวนี้บางช่วงต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการมุ่งทำตลาดแบบลุยไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในแต่ละจังหวัดก็จะมีลูกค้าหลายร้อยราย รวมถึงกลยุทธ์ในการแจกแถมป้าย ส่งผลให้แบรนด์มังบินติดตลาดอย่างรวดเร็ว มีลูกค้าให้ความสนใจและเปิดใจยอมรับในตัวสินค้ามากขึ้น ทำให้ในตอนนี้คุณเอนกมีลูกค้าอยู่ในมือกว่าหมื่นรายเลยทีเดียว
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของเขาไปได้สวยงาม คือ หลักการดำเนินธุรกิจที่ว่า การขายไม่มีคนเก่งมีแต่คนขยัน และต้องตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเวลาส่งของให้ลูกค้าต้องตรงต่อเวลา การเก็บเงินก็ง่าย ลูกค้าจะรู้เวลาที่เราจะมาอีกครั้ง และทำให้ลูกค้าได้สินค้าทันต่อความต้องการด้วย ซึ่งหลักดังกล่าวนี้ คุณเอนกบอกว่า ยึดคตินี้มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของเขาจนปัจจุบัน
กลยุทธ์ขายแบบลูกทุ่ง
ความที่เขาคุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนระดับล่าง บวกกับนิสัยส่วนตัวก็ชอบความเรียบง่าย สบายๆ จึงพัฒนามาเป็นกลยุทธ์หลักในการทำตลาด นอกจากลุยเข้าถึงตัวแบบถึงลูกถึงคนแล้ว ก้คือ การขายแบบลูกทุ่ง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักเขา และอาศัยความเชื่อใจเป็นหลัก
ปี 2543 คุณเอนกทำกาแฟแบบบรรจุถุงเล็กออกจำหน่าย เนื่องจากจากประสบการณ์ที่ขายกาแฟมามักพบว่า ลูกค้าที่มีทุนน้อยไม่สามารถลงสินค้ากับเราได้ มักไปแบ่งซื้อกับร้านค้าขายปลีก-ส่ง ตามตลาด ซึ่งเมื่อเขาผลิตเป็นถุงเล็กก็ส่งผลต่อยอดขายของเขาเพิ่มขึ้นด้วย
กลยุทธ์สินค้าคุณภาพ
กาแฟโบราณตรามังกรบิน จุดเด่นอยู่ที่ “รสชาติดี ราคาถูก” การตรงต่อเวลา ความดำ ความเข้มข้น เวลาที่ส่งลูกค้าจะส่งโดยตรง เอเย่นต์ก็วาง ร้านกาแฟก็ส่ง ซึ่งต่างจากผู้ค้าสมัยก่อนที่จะไม่ส่งตามร้านค้า แต่จะส่งกับยี่ปั๊วเท่านั้น
สำหรับสินค้าของกาแฟโบราณตรามังกรบินจะมีอยู่หลากหลายเกรด แล้วแต่ลูกค้าต้องการ แต่หลักๆ ก็ต้องเป็นการผสมระหว่างกาแฟอาราบิก้า กับโรบัสต้า โดยอาราบิก้านั้นคุณเอนกจะรับซื้อจากจังหวัดเชียงราย ซึ่งอาราบิก้าจะให้กลิ่นที่หอมนุ่มกว่า คอกาแฟจะรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี ส่วนโรบัสต้าที่ให้รสชาติเข้มข้นจะรับจากชาวสวนกาแฟในอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ที่รับซื้อกันมานาน โดยในแต่ละเดือนจะใช้วัตถุดิบประมาณ 30 ตัน โดยโรบัสต้าจะใช้มากกว่าประมาณ 70% ซึ่งราคาของวัตถุดิบต่างๆ ล้วนขึ้นราคาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผลพวงจากราคาน้ำมัน แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้
สร้างโรงงานรับ GMP
ทางโรงงานได้ทำการจดทะเบียนเป็นบริษัท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2548 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ขจรเกียรติกาแฟ จำกัด แต่ยังใช้ตราสินค้าเดิม คือ ตรามังกรบิน กาแฟโบราณตรามังกรบิน ได้รับมาตรฐาน GMP ซึ่ง ลูกค้าที่ใช้กาแฟของเรามั่นใจได้ว่า กาแฟของเรามรคุณภาพจริง มีโรงงานผลิตเองโดยระบุที่อยู่บรรจุภัณฑ์ทุกขนาด มี อย. รับรอง ยินดีบริการและเปลี่ยนสินค้า เมื่อลูกค้าไม่พอใจ ยังดีกว่ากาแฟที่วางขายอยู่แล้ว ไม่กล้าลงสถานที่ผลิต เนื่องจากไม่ผ่าน อย. หรือไม่มีโรงงานเอง
แยกโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
เมื่อมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่กำลังการผลิตไม่พอ ทางบริษัทจึงต้องแยกโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต โดยบริษัท ขจรเกียรติกาแฟ จำกัด ผลิตสินค้าเพื่อส่งลูกค้าในกรุงเทพฯ ส่วนโรงงานกาแฟจิตต์เกษม ผลิตสินค้าเพื่อส่งลูกค้าในต่างจังหวัดและปริมณฑล เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 โดยยังใช้ตราสินค้าเดิม คือ “มังกรบิน”
วิกฤติมหาอุทกภัย ปี 2554
ปี 2554 ประเทศไทยเกิดวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ กาแฟโบราณตรามังกรบิน ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โรงงานโดนน้ำท่วมสูงถึง 1.50 เมตร เกิดความเสียหายทั้งเครื่องจักร วัตถุดิบ และสินค้าเกือบทั้งหมด แต่คุณเอนกก็ไม่ย่อท้อ ลุยน้ำเข้าไปเก็บกู้เครื่องจักร วัตถุดิบที่เหลือ ย้ายไปทำการผลิตที่อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก็เริ่มเปิดทำงานได้ หลังจากน้ำลดก็กลับมาซ่อมแซมโรงงานและโกดังเก็บสินค้า แต่ความเสียหายค่อนข้างมาก จึงตัดสินใจทุบทิ้งแล้วสร้างโกดังเก็บสินค้า และสำนักงานใหม่ ซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2557 ในส่วนของโรงงานยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง พร้อมกับสั่งเครื่องจักรมาใหม่ทั้งหมด
กาแฟโบราณมังกรบิน 2009
หลังจากผ่านวิกฤติมหาอุทกภัยปี 2554 คุณเอนกจึงได้ทำการจดทะเบียนบริษัทใหม่ คือ “บริษัท กาแฟมังกรบิน 2009 จำกัด” เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โดยยังใช้ตราสินค้า “มังกรบิน” ซึ่งถึงแม้เวลาจะเปลี่ยนไป แต่ตราสินค้าที่ได้รับจากคุณปู่ขี่ลิ้ม มาสู่คุณพ่อวรเทพ สืบทอดมาถึงคุณเอนก ก็ยังเป็นมังกรบินตัวเดิมที่ทะยานขึ้นฟ้าตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปัจจุบัน